หน้า 36 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 | ฉบับ 3,378 ระหว่างวันที่ 28-30 มิ.ย.61

ตลาดเครื่องประดับไทยแข่งดุ “PONK SMITHI” เปิดแผนสร้างแบรนด์เจาะลูกค้าหัวทันสมัยชื่นชอบ งานดีไซน์เป็นเอกลักษณ์ พร้อมขยายช่องทางจำหน่ายสู่ห้างสรรพสินค้า หลังแนวโน้มโตต่อเนื่อง ฟาก GIT ชี้ตลาดศักยภาพสูงแต่ขาดบุคลากรที่มีทักษะ

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันการแข่งขันในธุรกิจเครื่องประดับและอัญมณีของเมืองไทยและในตลาดโลกมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตลาดส่งออกมูลค่า 4 แสนล้านบาท ที่มีการเติบโตสูงถึง 7% ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่มีการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การเข้ามาของกลุ่มนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวจีนคือปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ตลาดอัญมณีไทยมีการเติบโต แต่ทว่ากลับมีบุคลากรในอุตสาห กรรมเพียง 2 ล้านรายซึ่งถือว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

“เตรียมเปิดหลักสูตรฝึกอบรมให้ความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ด้านอัญมณีและเครื่องประดับให้แก่ศิษย์เก่า-ศิษย์ปัจจุบันกว่า 3,000 ราย ทั้งหลักสูตรทางด้านอัญมณีศาสตร์ การบริหารการตลาดอัญมณีและเครื่องประดับขั้นสูง หลักสูตรธุรกิจทองคำและโลหะมีค่า การออกแบบเครื่องประดับ ตลอดจนงานสัมมนา และการอบรมอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก”

ทั้งนี้แม้ไทยจะมีชื่อเสียงด้านการส่งออกเครื่องประดับและอัญมณีในตลาดโลกแต่ทว่าไทยกลับไม่ใช่ผู้นำแฟชั่นอย่าง อิตาลี หรือฝรั่งเศส ดังนั้นโจทย์หลักในการสร้างแบรนด์ผู้ประกอบการไทยให้เข้มแข็งนั่นคือจะต้องพัฒนาบุคลากรและแบรนด์ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกซึ่งคงต้องใช้เวลา เนื่องจากปัจจุบันเรายังถือเป็นผู้อยู่เบื้องหลังและซัพพอร์ตวัตถุดิบให้แบรนด์ดังอยู่ อย่างไรก็ตามปัจจุบันสินค้าในกลุ่มเครื่องประดับนั้นยังอิงกับสภาวะเศรษฐกิจอยู่เนื่องจากเป็นสินค้าฟุ่ม เฟือย กล่าวคือหากเศรษฐกิจตกตํ่าลูกค้าก็จะซื้อเครื่องน้อยลง แต่หากเศรษฐกิจดีลูกค้าก็จะซื้อบ่อยขึ้น ซึ่งตรงนี้คือจะทำอย่างไร

นายพ้อง สมิทธี ผู้ก่อตั้งและดีไซเนอร์ บริษัท สมิทธี จิวเวลรี่ผลิต และจำหน่ายเครื่องประดับที่ทำจากเงิน ทอง โลหะผสม อัญมณีฯภายใต้แบรนด์ “พ้องสมิทธี” (PONK SMITHI) กล่าวว่า การแข่งขันตลาดเครื่องประดับไทยปัจจุบันแม้จะมีการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีผู้ประกอบเข้ามาแข่งขันในตลาดมากขึ้น แต่ทว่าส่วนใหญ่ยังเป็นการแข่งขันที่มีรูปแบบชิ้นงานที่คล้ายกัน ขณะที่ตลาดงาน คราฟต์หรืองานออกแบบเฉพาะตัวยังไม่มีผู้เล่นในตลาดมากนัก ดังนั้นแผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทนับจากนี้จะให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักกับลูกค้าทั่วไปมากขึ้นหลังจากช่วงที่ผ่านมาบริษัทเน้นเจาะตลาดลูกค้าองค์กร และการรับจ้างผลิตมากกว่า และชูจุดเด่นเทคนิคการผลิตแบบ “โมกุเม่ กาเน่” หรือการทำเครื่องเงินลายไม้ออกมารุกตลาด โดยเน้นเจาะกลุ่มคนที่มีความคิดของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการงานเครื่องประดับที่มีเอกลักษณ์

“ที่ผ่านมาตลาดเครื่องประดับเมืองไทยเป็นลักษณะของการซื้อมาแล้วขายไป ซึ่งทำให้มูลค่าหรือกำไรที่ได้ยังน้อยอยู่แม้เครื่องประดับชิ้นนั้นจะมีราคาสูง แต่จากการที่เรานำเทคนิคดังกล่าวมาใช้ทำให้มูลค่าของชิ้นงานเพิ่มเป็น 3-5 เท่า ซึ่งแผนการนับจากนี้จะโฟกัสการทำเครื่องประดับจากเทคนิค ‘โมกุเม่ กาเน่’ ในสัดส่วน 90% เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มสูงขึ้น”

พร้อมกันนี้ยังเตรียมขยายช่องทางการจำหน่ายเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าทั่วไปมากขึ้น โดยจะเข้าไปวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้ามากขึ้น จากปัจจุบันที่เน้นจำหน่ายในช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ขณะเดียวกันยังจะเดินสายสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศด้วยการเดินสายโรดโชว์งานแฟร์ต่างๆ กว่า 10 งาน

อย่างไรก็ตามในช่วงปีหน้าบริษัทยังไม่มีการวางเป้าหมายการเติบโตไว้ เนื่องจากยังเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านและอยู่ในช่วงการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งเสียก่อน โดยคาดการณ์ว่าในอนาคตหลังจากรุกตลาดอย่างจริงจัง จะทำให้สัดส่วนรายได้ของบริษัทมาจาก 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มขายส่งในตลาดต่างประเทศ 40% กลุ่มวัตถุดิบเครื่องประดับ 30% และกลุ่มขายปลีกกว่า 20%

 

Cr. หน้า 36 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38  | ฉบับ 3,378 ระหว่างวันที่ 28-30 มิ.ย.61

Please Login to Comment.

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.