DITP สนับสนุนแบรนด์จิวเวลรี่ไทยขยายตลาดในจีนและฮ่องกง
เน้นเครื่องประดับอัญมณีและเครื่องประดับเฉพาะกลุ่ม รวมถึงเครื่องประดับที่เกี่ยวกับโชคลาง ส่วนอัญมณีต้องมีใบรับประกันเพื่อความมั่นใจลูกค้า
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยกลยุทธ์สำหรับผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยไปยังจีนและฮ่องกง เน้นเครื่องประดับอัญมณีและเครื่องประดับเฉพาะกลุ่มมากขึ้น รวมถึงเครื่องประดับที่เกี่ยวกับโชคลาง ส่วนอัญมณีต้องมีใบรับประกันเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ ทั้งนี้ การออกงานแสดงสินค้ายังเป็นช่องทางที่ดีในการเปิดตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ครั้งที่ 62หรือ The 62nd Bangkok Gems & Jewelry Fair ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 7-11 กันยายนนี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี
นายวิทยากร มณีเนตร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง เปิดเผยว่า ในปีนี้ตลาดการค้าอัญมณีและเครื่องประดับในฮ่องกงกลับมาฟื้นตัวหลังจากประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจของโลกที่ซบเซา โดยใน
ปี 2560 ฮ่องกงส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับรวมมูลค่า 84,274 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโตร้อยละ 3.55 จากปี 2559 ในขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าประเภทดังกล่าวจากฮ่องกงทั้งสิ้น 2,187 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ 2,458 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 22 ของมูลค่าการส่งออกไปฮ่องกงทั้งหมด
“สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่กำลังโดดเด่นตอนนี้ได้แก่ เครื่องประดับเฉพาะกลุ่มอาทิ เครื่องประดับสำหรับผู้ชาย เครื่องประดับที่เกี่ยวกับโชคลาง และเครื่องประดับเงินที่ราคาไม่แพงมาก อันที่จริงผู้ประกอบการไทยและฮ่องกงมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นอยู่แล้ว โดยเฉพาะด้านการค้าขายอัญมณี ด้วยอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยมีจุดเด่นที่ฝีมือในการผลิตและการออกแบบ ในขณะที่การค้าออนไลน์กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่และสำหรับสินค้าแฟชั่นราคาปานกลาง ส่วนสินค้าที่เป็นที่นิยมมากที่สุดยังคงเป็นเครื่องประดับเพชร โดยมีไข่มุกเป็นสินค้าที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ในขณะที่พลอยสีต่างๆ ยังคงเป็นที่นิยมซื้อหาในลูกค้าระดับกลาง ทั้งนี้ สินค้าเครื่องประดับไทยที่ส่วนใหญ่เป็นอัญมณี ผู้ประกอบการควรศึกษาถึงความต้องการใบรับประกันของลูกค้าในจีนและฮ่องกง เพราะจะเป็นเครื่องรับประกันคุณภาพของสินค้า” นายวิทยากรกล่าว
โดยนายวิทยากรได้เสริมว่า อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของฮ่องกงมีบทบาทที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของฮ่องกง เพราะเกี่ยวเนื่องกับผู้ประกอบการจำนวนมากตั้งแต่ผู้ผลิตแบบ เจียระไน จนถึงร้านค้าปลีก ซึ่งสามารถพบร้านขาย
อัญมณีและเครื่องประดับอยู่ทั่วๆ ไป โดยการสร้างแบรนด์เป็นสิ่งที่สำคัญต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้าในปัจจุบัน และลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าประจำหรือมีการแนะนำต่อๆ กันมา
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยหลายรายเล็งเห็นถึงโอกาสเปิดตลาดในฮ่องกงและจีน จึงได้เข้าร่วมงานแสดงสินค้า Hong Kong Jewellery & Gems Fair ในเดือนมิถุนายน เช่น นายสุรชัย พรสมิทธิกุล ดีไซเนอร์ และผู้ก่อตั้งแบรนด์ PONK SMiTHi ผู้ใช้เทคนิคโมกุเม่ กาเน่ เป็นเทคนิคโบราณที่ผสานการใช้วิทยาศาสตร์และศิลปะในการอบลวดลายโลหะ 2 ชนิดขึ้นไปให้ติดกันด้วยความร้อนและความดันสูง แล้วนำมาทุบ ตี ขุดเนื้อโลหะ เพื่อดึงลวดลายของเนื้อโลหะขึ้นมา ก่อนนำไปขึ้นรูปเครื่องประดับ รังสรรค์เป็นเครื่องประดับที่มีลวดลายสวยแปลกตา แตกต่างอย่างที่ไม่เคยมีในเครื่องประดับใดมาก่อน
นายสุรชัย เปิดเผยผลจากการออกงานแสดงสินค้าในฮ่องกงว่า หลายครั้งที่ผ่านมามีบริษัทผู้ผลิต คู่ค้า และลูกค้าทั้งจากจีน ยุโรป และอเมริกา ให้ความสนใจสินค้าไทยจำนวนมาก เนื่องจากสินค้าไทยขึ้นชื่อเรื่องงานฝีมืออันเป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติ และมองว่าผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคาและการผลิตจำนวนมากจากประเทศจีนได้ จึงควรนำจุดเด่นด้านดีไซน์และฝีมือประณีตมาแข่งขันในตลาดระดับโลกแทน ดังนั้น การนำเครื่องประดับที่ใช้เทคนิคโมกุเม่ กาเน่ ของแบรนด์ PONK SMiTHi มาจัดแสดงโชว์ในงานครั้งนี้ จึงได้รับความสนใจจากคู่ค้าเป็นจำนวนมาก ด้วยรูปลักษณ์สินค้าที่สวยสะดุดตา และเทคนิคการผลิตแปลกใหม่ที่ยากจะลอกเลียนแบบ โดยในเดือนกันยายนนี้ ทางแบรนด์ก็จะเข้าร่วมงาน Bangkok Gems & Jewelry ด้วยเช่นกัน
สำหรับงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ หรือ Bangkok Gems & Jewelry Fair ครั้งที่ 62 มีกำหนดจัดงานในระหว่างวันที่ 7-11 กันยายน 2561 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
โดยงานครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด Heritage & Craftsmanship หัตถศิลป์มรดกทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมงานศิลป์ไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากเป็นงานฝีมือที่ประณีตแล้ว ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ นำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” และ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ของรัฐบาล
งานบางกอกเจมส์ฯ ครั้งนี้ จะนำเสนอไอเดียใหม่ๆ ในโซนนิทรรศการ อาทิ The New Faces แสดงสินค้าเครื่องประดับจากผู้ประกอบการ SMEs ไทยชั้นยอดจากทั่วประเทศ ซึ่งครั้งนี้มีผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้าร่วมมากกว่า 120 ราย Innovation and Design Zone (IDZ) นำเสนอสินค้านวัตกรรมจากสตาร์ทอัพ และเครื่องประดับสุดพิเศษที่ใช้เทคนิคใหม่ๆ มาช่วยสร้างสรรค์ชิ้นงาน The Niche Showcase เครื่องประดับตามเทรนด์มาแรงในตลาดโลก
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ประกอบการที่ร่วมแสดงสินค้าภายในงาน นอกจากได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าแล้ว ผู้ประกอบการจะยังไม่มีภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จนกว่าสินค้าดังกล่าวจะจำหน่ายได้ภายในงาน จึงชำระภาษีเมื่อสิ้นสุดงานผ่านผู้ให้บริการขนส่ง จึงเหมาะกับผู้ประกอบการจากต่างประเทศที่เน้นนำสินค้าเข้ามาแสดงภายในงานและประสงค์นำกลับ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.bkkgems.com