โมกุเม่ กาเน่ (Mokume Gane:木目金)

          โมกุเม่ กาเน่ (Mokume Gane) ภาษาญี่ปุ่นว่า 木目金 มาจาก Moku แปลว่าไม้ me แปลว่าตา และ Gane แปลว่าโลหะมีค่า ซึ่งในความหมายของ โมกุเม่ กาเน่ คือ โลหะมีค่าที่มีลวดลายตาไม้ และในภาษาไทยจะเรียก “โลหะตาไม้” หรือ “เงินตาไม้” โมกุเม่ กาเน่ เป็นเทคนิคในการผลิตลวดลายโลหะ ที่เกิดจากการผสานโลหะตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป โดยโลหะที่นำมาผลินนั้นจะเป็นโลหะที่สามารถเชื่อมผสานกันด้วยตัวของเนื้อโลหะที่นำมาผลิตเอง ด้วยกระบวนการแพร่เข้าหากันระหว่างเนื้อโลหะทั้ง 2 ชนิดในสถานะของแข็ง โดยไม่ได้ใช้โลหะผสานชนิดอื่นมาเชื่อมติด ในกระบวนการผลิต จะนำโลหะไปอบในอุณหภูมิสูง แต่ต่ำกว่าจุดหลอมเหลว ภายใต้ความดัน โดยปราศจากโลหะประสาน เมื่อโลหะถูกอบติดกันเป็นก้อน โมกุเม่ กาเน่ แล้วนำไปลดขนาดด้วยการทุบ ตี กด และใช้กระบวนการตัด ขุด เจาะ บิด ทุบ ตอก ถาก เพื่อทำลวดลาย แล้วนำไปขยายลวดลาย โดยการเคาะ ตีขึ้นรูป หรือรีดขยาย เพื่อให้ลวดลายให้ชัดเจนขึ้น โดยลวดลายของ โมกุเม่ กาเน่ เกิดจาก ความแตกต่างของสี และคุณสมบัติของเนื้อโลหะนั้นๆ


ภาพประกอบ 1 กำไลเงินตาไม้ จากเทคนิคโมกุเม่ กาเน่ แบบโปร่ง ใช้ลิ้นสปริงล๊อค
THE TETRANGLE COLLECTION ออกแบบโดย PONK SMITHI

      โมกุเม่ กาเน่ หรือ Mokume Gane ในปัจจุบันริ่มประยุกต์เทคนิคการผลิต มาจากการผลิตดาบซามูไรในช่วง ค.ศ.1700 ในญี่ปุ่น มีการผสมผสานโลหะเพื่อใช้ในการผลิตชิ้นส่วนของดาบ ตั้งแต่สมัยเมจิ (Meiji) ในยุคที่การใช้ดาบในญึ่ปุ่นเสื่อมความนิยมลง ธุรกิจการตีดาบจึงไม่ได้ผลิตดาบเพื่อใช้ในการสู้รบ แต่เพียงเพื่อการประดับตกแต่ง และแสดงฐานะของชนชั้นขุนนางเท่านั้น นักประดิษฐ์ชื่อ Denbei Shoami (1651–1728) ได้ผลิตสินค้าขึ้นใหม่ในชื่อ Guri Bori จาก รูปแบบ Guri อย่างง่าย (โดยที่มาอื่นๆ เชื่อว่าชื่อมาจาก kasumi-uchi (cloud metal), itame-gane (wood-grain metal) และ yosefuki ในการผลิตดั้งเดิม) จะใช้โลหะและอัลลอยด์ที่ไม่แข็ง ได้แก่ ทอง, ทองแดง, เงิน, Shakudo, Shibuishi และ Kuromido ที่ผสานติดกันด้วย การแพร่ที่อุณหภูมิสูงแต่ต่ำกว่าจุดหลอมเหลว โดยทำให้โลหะทั้งสองชนิดติดกันในสถานะของแข็งด้วยกระบวนการแพร่ระหว่างชั้นโลหะ

MM Hwarkภาพประกอบที่ 2 ซึบะหรือกำบัง รูปเหยี่ยวกับนกกระจอก
Hamano Masanobu – Tsuba with a Hawk and a Sparrow – Walters Art Museum 51381 https://en.wikipedia.org/wiki/Mokume-gane

      จากการสืบค้น ยังพบมีการตีเหล็กที่ใช้เทคนิคการผลิตที่ทำให้เกิดลวดลายที่ใกล้เคียงกับ Mokume gane คือ เทคนิคการทำมีด Damascus Steel ที่ตีเหล็ก 2 ชนิดเข้าด้วยกันเช่นกัน แต่ยังไม่สามารถหาประวัติความเชื่อมโยงว่ามีการเชื่อมโยงกันอย่างไร โดย Damascus Steel เป็นชื่อเรียกเหล็กชนิดหนึ่งที่มีลวดลายอยู่ในเนื้อเหล็ก ได้รับความนิยมและใช้อย่างแพร่หลายในตะวันออกกลาง หรือแถบเปอร์เชียในอดีต โดยเหล็ก Damascus มีต้นกำเนิดมาจากเหล็ก Wootz Steel ที่เกิดในอินเดียเมื่อ 300 ปีก่อนคริสตกาล โดยต่อมาประเทศในแถบเปอร์เซียได้มีการนำเข้าก้อนเหล็ก Wootz Steel จากประเทศอินเดีย และศรีลังกา ในช่วง ค.ศ.300-1700 เพื่อใช้ในการทำมีด หรือดาบ และเป็นที่รู้กันดีว่า ดาบหรือมีดที่ตีจากเหล็ก Damascus Steel นั้นจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ลวดลายของเนื้อเหล็ก ที่ดูพริ้วไหวเหมือนสายน้ำไหล แต่เปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพด้วยคุณสมบัติของมีดดาบที่ดี คือ มีความคม และเหนียว  เนื่องจากในการผลิตจะใช้เหล็กทั้งชนิด คือ เหล็กที่มีคาร์บอนสูงที่มีความแข็งแต่เปราะสามามารถหักได้  ตีรวมกับเหล็กเหนียวที่่มีคาร์บอนต่ำ ซึ่งนอกจากที่จะทำให้มีดหรือดาบที่ตีจะมีทั้งความแข็งและคมกริบแล้ว ยังมีความยืดหยุ่นสูงด้วย เป็นการรวมเอาทั้งสองคุณลักษณะเด่นที่ดาบหรือมีดที่ดีควรจะมีเข้าด้วยกัน โดยกระบวนการผลิตจะใช้การซ้อนเหล็ก 2 ชนิดทับกันเป็นชั้นๆ แล้วนำไปเผาที่อุณหภูมิสูงมาก จนเหล็กทั้ง 2 ชนิดติดกัน แล้วนำมาตีทับไปทับมา จนได้ก้อนเหล็กที่มีจำนวนชั้นที่ซ้อนกันหลายชั้น จากนั้นจึงทำลวดลายบนเหล็กด้วยการทุบ ตะไบ เฉือน และเจาะ เมื่อลับออกมาเป็นดาบหรือมีด ก็จะเกิดลายพริ้วไหวเหมือนสายน้ำที่เป็นเอกลักษณ์ในเนื้อมีดหรือดาบนั้น

 

JapanSword1
ภาพประกอบที่ 3 ดาบญี่ปุ่น (日本刀 nihonto)
เรื่องโดย : เต็ง http://www.marumura.com/culture/?id=2504

      ในการผลิต โมกุเม่ กาเน่ ในปัจจุบัน จะใช้ผลิตโดยการเพิ่มแรงบีบอัดสูงกับก้อนโลหะ ทำให้สามารถผลิตร่วมกับโลหะอื่นที่นอกเหนือจากโลหะแบบดั้งเดิม เช่น Titanium, Platinium, เหล็ก, Bronze, ทองเหลือง, Nickel Silver และ ทองK สีต่างๆ ได้ดีพอๆ กับโลหะเงิน และทองแดง สำหรับการผลิตเครื่องประดับด้วยเทคนิค โมกุเม่ กาเน่ สามารถจำแนกรูปแบบคร่าวๆ จากการเตรียมลวดลายได้ใน 2 รูปแบบ คือ โมกุเม่ กาเน่ แบบดั้งเดิม และ โมกุเม่ กาเน่ แบบแผ่นรีด โดยวิธีการผลิต โมกุเม่ กาเน่ แบบดั้งเดิม จะมีกระบวนการทำให้เกิดขึ้นลวดลาย ทั้งก่อน และในระหว่างขั้นตอนการขึ้นรูปเครื่องประดับ โดยไม่มีการเตรียมลวดลายที่สมบูรณ์ไว้ก่อน และเมื่อผ่านกระบวนการในแต่ละขั้นตอน ลวดลายก็จะเปลี่ยนไปตามขั้น หรือเนื้อโลหะที่หายไป พร้อมกับการตกแต่งผิวเครื่องประดับ ซึ่งต้องใช้ทักษะ ความชำนาญ และจิตนาการเป็นอย่างมาก ส่วนการผลิต โมกุเม่ กาเน่ แบบแผ่นรีด จะมีการเตรียมลาย โมกุเม่ กาเน่ ไว้ใกล้เรียบร้อย หรืออาจจะเตรียมไว้เรียบร้อยก่อนการนำไปผลิตเป็นเครื่องประดับ โดยขยายลวดลายด้วยการรีดเป็นแผ่นที่มีความหนาตามต้องการก่อนนำไปประกอบเข้ากับตัวเรือนเครื่องประดับ แต่อย่างไรก็ดี ในการผลิตลวดลายที่หลากหลายผู้ผลิตอาจจะใช้หลากหลายเทคนิคในการผลิต หรือผสมผสานกัน การจัดลำดับขั้นตอน หรือวิธีการแม้แต่เพียงเล็กน้อย หรือการปรับเปลี่ยนเครื่องมือ และวัสดุอุปกรณ์ใหม่ๆ ในกระบวนการผลิต จะทำให้ได้ลวดลายที่แปลกใหม่ และน่าสนใจมากขึ้น ผู้สนใจในการผลิตลวดลาย โมกุเม่ กาเน่ จึงควรศึกษาวิธีการที่หลากหลาย เพื่อการประยุกต์ใช้ในการผลิตลวดลาย โมกุเม่ กาเน่ ที่หลากหลาย  เพื่อให้เกิดลวดลายของชีวิต ที่ผสานกันด้วยความรัก ความพยายาม จนประสบความสำเร็จ

          สำหรับ PONK SMITHI ที่หลงรักการทำ Mokume Gane เกิดในขณะศึกษาระดับปริญญาโท คณะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีอัญมณีและเครื่องประดับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในปี 2556 จากการเริ่มทดลองผลิตเครื่องประดับจากแผ่นลวดลาย โมกุเม่ กาเน่ ของนักศึกษารุ่นน้อง และพบว่ามันมีความหลากหลาย แปลกตา น่าหลงใหล แต่ทุกคนที่เคยทำ โมกุเม่ กาเน่ แล้ว กลับพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า จะไม่ทำอีกแล้ว เพราะขั้นตอนการทำยุ่งยาก จำนวนขั้นตอนการทำมาก ใช้เวลาในการผลิตนาน และเสียหายเยอะมาก ไม่คุ้มค่า แต่ด้วยความชอบและหลงใหลในลวดลาย จึงได้สนใจในการทดลองทำ และศึกษาปัจจัยกระบวนการผลิตเพื่อการทำนายลวดลาย โมกุเม่ กาเน่ แบบแผ่นรีด จากโลหะเงินและทองแดง (Study of production processes effecting to the prediction of silver and copper mokume gane sheet pattern) จนสามารถพยากรณ์ขนาดของลายคร่าวๆ ได้จากการคำนวณความหนาแน่นของส่วนผสมโลหะเฉลี่ยที่อยู่ในก้อน โมกุเม่ กาเน่ นั้น และสามารถใช้ตรวจสอบความสมบูรณ์ของก้อน โมกุเม่ กาเน่ ในระหว่างการผลิตได้อีกด้วย

        ในระหว่างการทำ ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างนอกจากวิทยาศาสตร์ ได้พบว่า ลวดลายของ โมกุเม่ กาเน่ เปรียบได้กับลวดลายของชีวิต ที่ชีวิตของทุกคนจะไม่มีทางเหมือนกัน แม้จะพยายามให้เหมือนเพียงใด การติดกันอย่างสมบูรณ์แบบของโลหะทั้ง 2 ชนิดในการผลิต โมกุเม่ กาเน่ เปรียบเสมือนความรักของคน 2 คน เราไม่สามารถบอกหรือบังคับให้ 2 คนรักกันได้อย่างไร ก็เหมือนการใช้โลหะอื่นไปเชื่อมประสานชั้นลายของ โมกุเม่ กาเน่ ที่ไม่ติดกัน ในท้ายที่สุด เมื่อผ่านขั้นตอนการผลิตที่หลากหลายยาวนาน มันก็จะแตกและแยกออกจากกันอยู่ดี และในการจะเดินทางสู่ความสำเร็จนั้น ทางทีเดินไม่ได้ง่าย ต้องมีความมานะ พยายาม อดทน กำลังใจสู้ คิด วิเคราะห์ และแก้ปัญหา จึงจะพบกับลวดลายของความสำเร็จที่สวยงาม

          ลวดลายแห่ง ชีวิต ความรัก และความสำเร็จที่สมบูรณ์ ไม่ได้เกิดจากการมีทุกอย่างที่สมบูรณ์แบบ แต่เป็นการพยามยามสร้าง เข้าใจ และแก้ปัญหา เพื่อให้มันสมบูรณ์ในแบบของเรา ซึ่งไม่ได้สมบูรณ์ในแบบของคนอื่น ลวดลายของชีวิตเรา แบบเรา มีหนึ่งเดียวในโลก

 

Credit to : PONK SMiTHi
Mokume Gane Sci-Artist.
www.PONKSMiTHi.com
Ornaments fulfilling your LiFE, LOVE and SUCCESS.
เติมเต็มชีวิต  ความรัก และ ความสำเร็จ ของคุณ

 

Please Login to Comment.

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.