สัมภาษณ์พิเศษ L’Officiel Hommes #3/2020

PONK SMITHI กับ โมกุเม่ กาเน่ จนเป็นศาสตร์แห่งการทำเครื่องประดับกับการใช้ชีวิตให้เหมาะสมพอดี

March 18, 2020/in Lifestyle /by Pacharee Klinchoo
Author: Pacharee Klinchoo
Photographer: Napat Gunkham


เมื่อศาสตร์การทำเครื่องประดับอย่าง mokume gane เกี่ยวพันกันอย่างแนบแน่นกับวิชาการใช้ชีวิตให้พอดีและมีความสุข

ลอฟฟีเซียล ออมส์ ชวนพ้อง พรสมิทธิกุล เจ้าของแบรนด์ PONK SMITHI เครื่องประดับสุดยูนีคที่สรรค์สร้างลวดลายด้วยเทคนิคโมกุเม่ กาเน่ หรือที่เรียกกันว่า ‘โลหะลายไม้’ อันเป็นเทคนิคที่ประยุกต์มาจากการผลิตเพื่อตกแต่งดาบซามูไรในช่วงยุคเมจิ

ทำความรู้จักกับ mokume gane
เทคนิคโมกุเม่ กาเน่ เป็นเทคนิคการตกแต่ง ‘สึบะ’ หรือตัวกันดาบซามูไรในปลายยุคเมจิครับ เพราะในยุคนั้นซามูไรไม่ได้ใช้ดาบในการฆ่าฟัน แต่ซามูไรคือขุนนาง การพกดาบคือการสร้างภาพลักษณ์ในทางหนึ่ง หลักการง่ายๆ ของศิลปะชนิดนี้คือการนำโลหะสองชนิดที่มีไซส์อะตอมไม่ต่างกันมากมาซ้อนทับกันหลายๆ ชั้น ก่อนจะนำมาเผาด้วยอุณหภูมิสูงพอที่จะไม่ทำให้โลหะละลาย แต่เปลี่ยนสถานะจากของแข็งเป็นของเหลวนิดหน่อยตรงขอบ เพื่อที่จะนำมาตีเป็นแผ่น ซึ่งในกระบวนการนี้ความร้อนต้องพอดี ถ้ามากเกินไป โลหะก็จะละลายหลอมเหลวหายไปเลย แต่ถ้าน้อยเกินไป ตัวโลหะก็จะไม่ติดกัน ต้องอาศัยการดูสีไฟ ดูการเปลี่ยนสีของโลหะ พึ่งความชำนาญของช่างล้วนๆ เลยครับ

เมื่อเผาจนได้ที่แล้วก็จะนำก้อนโลหะดังกล่าวแช่ลงน้ำเพื่อหยุดกระบวนการไว้ที่ตรงนี้ และจะเข้าขั้นตอนกระบวนการทุบ ซึ่งอธิบายก่อนว่า เนื้อโลหะสองประเภทนั้นไม่ได้หลอมละลายติดกันทั้งหมด มันจะติดกันแบบพอดีๆ อยู่ คงจะเหมือนกับชีวิตของเรามั้งครับ (หัวเราะ) ถ้าใช้ชีวิตไปอย่างสุดโต่งเกินไป มันก็คงไม่สวยงามนักหรอก ก็ต้องมีผ่อนบ้าง เครียดบ้าง ชีวิตถึงจะสวยงาม เหมือนเวลาเราทุบก้อนโลหะนี้ ต้องทุบด้วย ‘ความพอดี’ เพราะถ้าทุบมากเกินไป ก้อนโลหะก็จะ ‘เครียด’ ซึ่งเป็นภาษาวิทยาศาสตร์แปลว่ามันมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ยิ่งทุบจะยิ่งแข็ง ก้อนโลหะจะไม่แผ่ออกเป็นแผ่นบางๆ แต่มันจะแตก ดังนั้นการทุบจะต้องสลับกับการเผาเพื่อคลายเครียดให้กับโลหะ ทำให้โลหะนิ่มลงพอที่จะทุบได้ ถ้าเราทุบมากไป โลหะก็จะปริ แต่ถ้าทุบน้อยไป มันก็จะไม่ติดกันเป็นลวดลาย ทุกอย่างต้องพอดีจริงๆ ครับ


หลังจากที่ทุบให้ได้ความบางประมาณสามมิลลิเมตรแล้วก็เข้าสู่กระบวนการเจาะรู โดยใช้สว่านเจาะเป็นรูเล็กๆ หลักพันรู เพื่อให้โลหะสร้างลวดลายออกมา แม้ว่าลวดลายที่เกิดขึ้นจะดูเหมือนเป็นการสร้างลายแบบเดาสุ่ม แต่ก็พอจะพยากรณ์ล่วงหน้าได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ จากการคำนวณค่าความถ่วงจำเพาะ และปัจจัยอื่นๆ เราจะรู้ไซส์ลายคร่าวๆ ว่าวงหนึ่งของลายจะมีขนาดประมาณเท่าไหร่ พอจะพยากรณ์ได้ว่าจะเอาไป setting กับเครื่องประดับได้ขนาดไหน ประมาณนี้ครับ และหลังจากที่เจาะรูเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะนำไปเข้าเครื่องรีด รีดให้ได้ออกมาความบางที่ต้องการ เป็นเสร็จสิ้นการทำวัตถุดิบด้วยเทคนิคโมกุเม่กาเน่ ซึ่งกระบวนการในการเตรียมวัตถุดิบนี้จะกินเวลาประมาณ 7-10 วันครับ

ลวดลายคือร่องรอยประสบการณ์ 

ผมเคยเป็นโปรแกรมเมอร์มาก่อนนะครับ แต่ผมสนใจงานเครื่องประดับ เลยตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทที่คณะวิทยาศาสตร์สาขาอัญมณีและเครื่องประดับมศว ซึ่งมีหัวข้อธีสิสจบหนึ่งหัวข้อเป็นการพยากรณ์การเกิดลายของเทคนิคนี้ ส่วนตัวผมสงสัยมากว่า ถ้าลวดลายเกิดขึ้นโดยไม่สามารถควบคุมได้ ก็จะไม่สามารถสร้างสรรค์งานที่สวยงามได้ เลยคิดหาวิธีการพยากรณ์การเกิดลายดู หลังจากทำวิจัยชิ้นนั้นก็ได้คลุกคลีกับศิลปะประเภทนี้แบบลงมือทำด้วยตัวเอง ผมก็หลงรักมันไปเองครับ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะความยากในการทำ หรือความท้าทายก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่พอหลังจากได้ลองทำ ได้นำเสนอมันออกมาเป็นรูปธรรม ก็เห็นว่านี่ไม่ใช่แค่เครื่องประดับ แต่นี่คือลวดลายที่สร้างสรรค์จากประสบการณ์ชีวิตของตัวมัน คุณค่าของมันมีมากกว่าความเป็นเครื่องประดับไปแล้วครับ มันไม่ใช่แค่เนื้อเงินหรือเศษทองแดงเท่านั้น แต่โลหะเหล่านั้นผสมผสานออกมาเป็นลวดลายต่างๆ มีชีวิตเป็นของตัวเอง สิ่งที่ลูกค้าได้ไปคือประสบการณ์ชีวิตของมันนะครับ

หลักการสร้างสรรค์งานจากเทคนิคโมกุเม่กาเน่ ไม่เกี่ยวว่าต้องใช้พลังงานเยอะหรือน้อย แต่สิ่งสำคัญคือ ‘ทุกอย่างต้องพอดีสำหรับมันเท่านั้น’ ถ้าใช้วัสดุเงิน-ทองแดง มันก็จะมีจุดพอดีของมันในจุดหนึ่ง แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นเงิน-ทอง อุณหภูมิจุดหลอมเหลว ขั้นตอนวิธีการทำ กระบวนการผลิต ก็จะเปลี่ยนไปในรายละเอียด แม้ว่ากระบวนการหลักๆ จะเป็นเหมือนที่ผมอธิบายมาแล้วก็ตามครับ

ผมชอบงานเทคนิคนี้จนเข้าขั้นหลงใหลเพราะเรื่องราวที่เกิดขึ้นในตัว raw materials ทั้งในขั้นตอนกระบวนการสรรค์สร้าง ไปจนถึงเรื่องราวหลังจากที่ลูกค้าได้นำมันไปใส่แล้ว เพราะงานประเภทนี้เป็นงานศิลปะจริงๆ ที่เราสามารถสวมใส่มันไปไหนต่อไหนได้ แทนที่เราจะเอางานศิลปะชิ้นหนึ่งไปแปะไว้ที่ข้างฝา รอให้รุ่นลูกรุ่นหลานอีกร้อยสองร้อยปีเห็นคุณค่า เราก็ใส่เดินไปตอนนี้เลยสิ ส่งต่อประสบการณ์เหล่านี้ให้ลูกหลานไปเลย คุณค่ามันมากกว่า เพราะนี่คือการส่งต่อประสบการณ์ชีวิตผ่านรุ่นสู่รุ่น ลวดลายที่เกิดขึ้นนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามการใช้งาน ถ้าคุณขัดมัน ลายที่อยู่ข้างล่างก็จะค่อยๆ ปรากฏขึ้นมาเรื่อยๆ นั่นคือสิ่งที่ทำให้เครื่องประดับเหล่านี้มีชีวิตครับ

www.ponksmithi.com

ที่มา https://hommesthailand.com/2020/03/mokumekane/

Please Login to Comment.

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.