ทองแดง ฆ่าเชื้อโรคได้ จึงมีค่ามากกว่าความงาม

posted in: เกี่ยวกับ | 0

เพราะฆ่าเชื้อโรคได้ “ทองแดง” จึงมีค่ามากกว่าความงาม

ลวดลายที่เกิดจากเงิน สลับกับ ทองแดง

“ทองแดง” วัสดุที่ไม่ได้มีเพียงแค่ความสวยงาม แต่ยังมีคุณสมบัติที่สามารถทำลายเชื้อโรคได้โดยธรรมชาติ ทำให้เป็นวัสดุที่คนหลากหลายวงการกำลังจับตามอง

หากเปรียบสถานการณ์ช่วงต้นปีที่ผ่านมากับภาพยนตร์ ก็คงจะเป็นฉากที่ใครหลายคนต่างกำลังลุ้นหาหนทางในการต่อสู้ของมนุษย์กับการเอาชนะเจ้าวายร้ายโควิด-19 ที่ไม่ยอมแพ้ต่ออะไรง่าย ๆ แต่เหตุการณ์นี้คือเรื่องจริงที่ทุกคนต้องเผชิญร่วมกัน ไม่เพียงแต่บุคลากรทางการแพทย์เท่านั้นที่กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาผู้ป่วยและจัดการกับการแพร่ระบาด นักวิจัยและนักออกแบบต่างก็กำลังพัฒนาหาแนวทางในการรับมือกับโรคระบาดรุนแรงในครั้งนี้ โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ “หยุดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส” เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้ได้มากที่สุด

โรคโควิด-19 นั้นเกิดจากไวรัสชนิดใหม่ที่สามารถติดต่อสู่คนรอบข้างได้อย่างรวดเร็วผ่านฝอยละอองขนาดใหญ่ (Droplet) ซึ่งก็คือละอองสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย ที่เกิดจากการไอ จาม ของผู้ติดเชื้อ ละอองเหล่านี้สามารถลอยตัวอยู่ในอากาศได้ไม่นานนักและกระจายออกไปได้แค่เพียง 1 – 2 เมตรเท่านั้น ก่อนจะตกลงบนพื้นผิวต่าง ๆ และช่วงระยะเชื้อฟักตัวก่อนผู้ติดเชื้อจะแสดงอาการนั้นมีระยะตั้งแต่ 2 – 14 วัน สาเหตุนี้เองที่ทำให้เชื้อโรคนี้เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้ง่ายและทำให้ผู้ที่สัมผัสพื้นผิวเหล่านั้นอาจติดเชื้อผ่านการสัมผัสสิ่งของร่วมกันได้อย่างรวดเร็วโดยที่ไม่รู้ตัว เกิดเป็นการแพร่ระบาดและกระจายเป็นวงกว้างไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

ล่าสุดเมื่อเดือน มีนาคม ปี 2020 นักวิจัย Neeltje van Doremalen และทีมงาน ได้เผยแพร่ผลงานผ่านวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ (The New England Journal of Medicine) เกี่ยวกับการศึกษาเปรียบเทียบอายุขัยของเชื้อไวรัสทั้งสองชนิด ระหว่างไวรัสโครานาสายพันธุ์ดั้งเดิม (SARS-CoV-1) และไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) บนพื้นผิวต่าง ๆ พบว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้สามารถมีชีวิตอยู่ในแต่ละพื้นผิวได้แตกต่างกันตามข้อมูลในตารางด้านล่างนี้

อายุขัยของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 หรือโรคโควิด-19 เมื่ออยู่บนแต่ละพื้นผิว*

พื้นผิว

อายุขัย

ฝอยละอองขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอนในอากาศ (Aerosol)

3 ชั่วโมง

พลาสติก (Plastic)

72 ชั่วโมง

สแตนเลส (Stainless Steel)      

48 ชั่วโมง

กระดาษแข็ง (Cardboard)

24 ชั่วโมง

ทองแดง (Copper)

4 ชั่วโมง

*สรุปข้อมูลจากบทความ “Aerosol and surface stability of SARS-CoV-2 as compared with SARS-CoV-1.”

จากผลงานวิจัยข้างต้นนี้ทำให้หลายคน รวมถึงในวงการแพทย์หันมาสนใจในวัสดุ “ทองแดง” มากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุผลที่นอกเหนือจากความสวยงามของสีที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว ทองแดงยังเป็นอีกหนึ่งในโลหะที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำโดยที่ยังคงคุณสมบัติเดิมไว้ได้ครบถ้วน และที่สำคัญ ทองแดงนั้นมีบทบาทอย่างมากในด้านสาธารณสุขมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากทองแดงมีสมบัติทางเคมีเฉพาะตัวที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาสามารถทำลายผนังเซลล์ของตัวไวรัสได้

มีการทดลองใช้ทองแดงเป็นวัสดุปิดผิวบนอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในห้องพักผู้ป่วยในโรงพยาบาล เมื่อเปรียบเทียบกับห้องพักผู้ป่วยทั่วไป ผลคือทองแดงช่วยลดปริมาณแบคทีเรียสะสมได้ถึง 83% รวมถึงพบว่ามีอัตราการติดเชื้อของผู้ป่วยภายในโรงพยาบาลลดลง 58% อย่างไรก็ตาม ทองแดงยังมีข้อจำกัดในการใช้งานอยู่เนื่องจากเมื่อใช้งานไปเป็นเวลาหนึ่ง ทองแดงจะเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันจนกลายเป็น “สนิม” และเปลี่ยนสีจากสีทองแดงกลายเป็นสีเขียวอมน้ำเงิน (Greenish-blue) แต่ถึงแม้ว่าจะมีสีที่เปลี่ยนไป ทองแดงก็ยังคงคุณสมบัติในการป้องกันไวรัสและแบคทีเรียได้ดีเช่นเดิม

ปัจจุบันมีสถานที่สาธารณะบางแห่งอย่าง สวนสนุก Fantasilandia ในประเทศชิลี หรือจุดเติมน้ำดื่มภายในท่าอากาศยานแอตแลนตา สหรัฐฯ เริ่มเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์สำหรับให้บริการคนจำนวนมากมาเป็นผิวทองแดงแล้ว ดังนั้นในอนาคตเราอาจได้เห็นการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกับการออกแบบเพื่อใช้ทองแดงเป็นวัสดุปิดผิวต่าง ๆ ของอุปกรณ์ในพื้นที่สาธารณะเพิ่มเติมมากขึ้น เช่น ปุ่มกดลิฟต์ ราวบันได ลูกบิดประตู เพื่อลดการสะสมของเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย รวมไปถึงลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคผ่านการสัมผัสสิ่งของร่วมกัน

สุดท้ายนี้แม้ว่าคุณสมบัติของทองแดงจะดีเพียงใด ก็ยังทำได้แค่ช่วยลดการสะสมของเชื้อไวรัสเบื้องต้นเท่านั้น อย่าลืมว่าไวรัสต้องอาศัยร่างกายมนุษย์ในการดำรงชีพและแพร่ขยายอาณาจักร ถ้ามนุษย์หยุดติดต่อกันและดูแลรักษาสุขอนามัยให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอ เจ้าวายร้ายไวรัสเหล่านี้ก็จะพ่ายแพ้ไปเอง และหวังว่าวิกฤตการณ์โรคอุบัติใหม่ในครั้งนี้จะผ่านพ้นไปได้โดยเร็ว…

บทความจาก TCDC https://web.tcdc.or.th/th/Articles/Detail/Copper-Destroys-Viruses
เรื่อง: มนต์นภา ลัภนพรวงศ์
อ้างอิง: 

  1. van Doremalen Neeltje, Trenton Bushmaker, Dylan H. Morris, Myndi G. Holbrook, Amandine Gamble, Brandi N. Williamson, Azaibi Tamin, et al. “Aerosol and surface stability of SARS-CoV-2 as compared with SARS-CoV-1.” New England Journal of Medicine (2020).
  2. บทความ “Copper Destroys Viruses and Bacteria. Why Isn’t It Everywhere?”โดย Shayla Love จาก VICE

Please Login to Comment.

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.